เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 6. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ มุนีก้าวล่วงกิเลส
เครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี1
คำว่า พ้นแล้วจากนามกาย อธิบายว่า มุนีนั้นพ้นแล้วจากรูปกายมาก่อน
แล้วโดยปกติ คือ ก้าวล่วงรูปกายนั้นแล้วละเสียได้ด้วยวิกขัมภนปหาน2 มุนีนั้น
มาถึงที่สุดภพ ได้อริยมรรค 4 ประการแล้ว เพราะเป็นผู้ได้อริยมรรค 4 ประการ
แล้ว ท่านจึงกำหนดรู้นามกาย และรูปกายได้ เพราะเป็นผู้กำหนดรู้นามกายและ
รูปกายได้แล้ว จึงพ้น คือ หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจากนามกาย และรูปกาย
ด้วยความหลุดพ้นโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างสิ้นเชิง รวมความว่า มุนีพ้นแล้วจาก
นามกาย ... ฉันนั้น
คำว่า ย่อมดับไป ในคำว่า ย่อมดับไป กำหนดไม่ได้ ได้แก่ ปรินิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
คำว่า กำหนดไม่ได้ อธิบายว่า มุนีนั้นปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสส-
นิพพานธาตุ กำหนดไม่ได้ คือ ยกมาอ้างไม่ได้ นับไม่ได้ บัญญัติไม่ได้ว่า “เป็น
กษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา
เป็นมนุษย์ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา เป็นผู้มี
สัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีสาเหตุที่จะเป็นเครื่อง
กำหนด รวมความว่า ย่อมดับไป กำหนดไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 21/127-129
2 วิกขัมภนปหาน หมายถึงการดับกิเลสด้วยการข่มไว้ของท่านผู้บำเพ็ญปฐมฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้
ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น เป็นข้อแรกของปหาน 5 ดูรายละเอียดจาก ขุ.ป. 31/24/28

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :190 }